ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในตระกูลอินโด-ยุโรเปียน มีรูปลักษณะภาษาเป็นภาษามีวิภัตติปัจจัย เช่นเดียวกับภาษาบาลี-สันสกฤต แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เรียบง่ายขึ้น มีโครงสร้างประโยคคล้ายภาษาไทย มีระบบเสียงต่างกับภาษาไทยบ้าง ในขณะ เดียวกันก็มีลักษณะ บางประการเหมือนภาษาคำโดด และภาษาคำติดต่อปนอยู่ เมื่อภาษาอังกฤษ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เรียบง่ายขึ้น ภาษาอังกฤษจึงได้รับความนิยมใช้เป็นภาษา เพื่อการสื่อสารมากที่สุด มีประเทศต่าง ๆ ยอมรับภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการมากมาย ภาษาอังกฤษจึงกลาย เป็นภาษาสากลของชาวโลก คนไทยได้ศึกษาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองมาเป็นเวลานาน จนภาษาอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนไทยมากขึ้น ดังนั้นภาษาอังกฤษ จึงเข้ามามีบทบาทต่อภาษาไทยมาก คนไทยบางคนนิยมพูดภาษาไทยปนฝรั่งกันอย่างแพร่หลาย วัฒนธรรมฝรั่งก็เข้ามาปะปนในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น ค่านิยมของสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ภาษาไทยก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เรายืมคำภาษาอังกฤษมาใช้ โดยการ ทับศัพท์ ทับศัพท์เสียงเปลี่ยนไป ใช้คำไทยแปล ใช้คำสันสกฤตแปล ใช้คำบาลีสันสกฤตหรือคำอังกฤษซ้อนหรือประสมกับคำไทย และเปลี่ยนความหมาย (ทองสุก เกตุโรจน์, 2551, หน้า 108)
การยืมคำภาษาอังกฤษมาใช้สื่อสารในภาษาไทย วิธีการยืมคำภาษาอังกฤษมาใช้สื่อสารในภาษาไทยโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ
1. การแปลศัพท์ การยืมคำภาษาอังกฤษโดยวิธีการแปลศัพท์ หมายถึง การยืมคำที่เราไม่เคยมีหรือไม่เคยรู้จัก หรือการกล่าวถึงความคิดหรือนามธรรม ซึ่งไม่ใช่ความคิดหรือนามธรรมที่เรานึกคิดมาก่อน (ปราณี กุลละวณิชย์ และอื่น ๆ, 2535, หน้า 67) การยืมคำโดยวิธีการนี้จะต้องใช้วิธีการคิดแปลเป็นคำภาษาไทยให้มีความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษ แล้วนำคำนั้นมาใช้สื่อสารในภาษาไทยต่อไป ดังตัวอย่างเช่น คำภาษาอังกฤษ | คำภาษาไทย | tea spoon | ช้อนชา | table spoon | ช้อนโต๊ะ | electricity | ไฟฟ้า | electric fan | พัดลม | airplane | เครื่องบิน | typewriter | เครื่องพิมพ์ดีด | war ship | เรือรบ | blackboard | กระดานดำ | black market | ตลาดมืด | short story | เรื่องสั้น | middle-man | คนกลาง | dry cleaning | ซักแห้ง | horse power | แรงม้า | honeymoon | น้ำผึ้งพระจันทร์ | loan word | คำยืม | handbook | หนังสือคู่มือ | blacklist | บัญชีดำ |
2. การบัญญัติศัพท์ การบัญญัติศัพท์เป็นวิธีการยืมคำ โดยรับเอาเฉพาะความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาสร้างคำขึ้นใหม่ ซึ่งมีเสียงแตกต่างจากคำในภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะศัพท์ทางวิชาการจะใช้วิธีการนี้มาก ผู้ที่ทำหน้าที่ในการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใช้ มักจะเป็นนักวิชาการสาขาต่าง ๆ หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยขึ้น ใช้แทนคำยืมจากภาษาต่างประเทศโดยตรง คือ ราชบัณฑิตยสถาน แต่ก็มีบางคำที่นักวิชาการแต่ละคนหรือแต่ละหน่วยงานบัญญัติศัพท์ภาษาไทยมาใช้แทนคำภาษาอังกฤษไม่ตรงกัน การยืมคำจากภาษาอังกฤษมาสร้างเป็นคำใหม่ เพื่อใช้สื่อสาร โดยวิธีการบัญญัติศัพท์ มีมากมาย ดังตัวอย่าง เช่น คำภาษาอังกฤษ | ศัพท์บัญญัติ | telegraph | โทรเลข | telephone | โทรศัพท์ | telescope | โทรทรรศน์ | television | โทรทัศน์ | teletype | โทรพิมพ์ | telecommunication | โทรคมนาคม | ecology | นิเวศวิทยา | pedology | ปฐพีวิทยา | reform | ปฏิรูป | globalization | โลกาภิวัตน์ | federal state | สหพันธรัฐ |
3. การทับศัพท์ การทับศัพท์เป็นวิธีการยืมจากภาษาหนึ่ง มาใช้ในอีกภาษาหนึ่งโดยการถ่ายเสียง และถอดอักษร การยืมคำภาษาอังกฤษ โดยวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ทำได้ง่าย และปรากฏเด่นชัดที่สุดว่าเป็นคำยืมจากภาษาอังกฤษ คำยืมจากภาษาอังกฤษโดยวิธีการทับศัพท์มีมากมาย คำบางคำราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์เป็นคำไทยแล้ว แต่คนไทยนิยมใช้คำทับศัพท์มากกว่า คำทับศัพท์บางคำจึงคุ้นหูผู้รับสารมากกว่าศัพท์บัญญัติ คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้สื่อสารโดยทั่วไป มีตัวอย่างดัง เช่น คำภาษาอังกฤษ | คำทับศัพท์ | graph | กราฟ | captain | กัปตัน | clinic | คลินิก | quota | โควตา | chimpanzee | ชิมแปนซี | draft | ดราฟต์ | dinosaur | ไดโนเสาร์ | transistor | ทรานซิสเตอร์ | technology | เทคโนโลยี | nuclear | นิวเคลียร์ | bungalow | บังกะโล | plaster | ปลาสเตอร์ | protein | โปรตีน | physics | ฟิสิกส์ | cock | ก๊อก | gauze | กอซ | copy | ก๊อบปี้ | golf | กอล์ฟ | carat | กะรัต | captain | กัปตัน | gas | ก๊าซ, แก๊ส | card | การ์ด | cartoon | การ์ตูน | guitar | กีตาร์ | cook | กุ๊ก | game | เกม |
|