การอ่านออกเสียงร้อยแก้วเป็นการอ่านออกเสียงเหมือนเสียงพูดธรรมดา เพื่อรับสารจากเรื่องที่อ่าน โดยมีหลักการอ่านดังนี้ ๑. ศึกษาเรื่องที่อ่านให้เข้าใจ เพื่อให้ทราบถึงสาระสำคัญของเรื่อง อารมณ์และความรู้สึกที่ผู้เขียนตั้งใจจะสื่อให้ผู้อ่านทราบ แล้วแบ่งวรรคตอนในการอ่านให้ถูกต้องว่าตอนใดควรเว้นวรรคน้อย ตอนใดควรเว้นวรรคมาก
๒. ศึกษาหลักการอ่านคำในภาษาไทยให้ถูกต้องตามอักขรวิธี การอ่านคำที่นิยมมาจากภาษาต่างประเทศ ต้องอ่านให้ถูกต้องโดยยึดพจนานุกรม
๓. ต้องมีสมาธิในการอ่าน คือ ต้องมีความมั่นใจตัวเอง ไม่อ่านผิด อ่านตก อ่านเติม หรืออ่านผิดบรรทัด ต้องควบคุมสายตาจากซ้ายไปขวาและย้อยกลับมาอีกบรรทัดหนึ่งอย่างว่องไวและแม่นยำ
๔. อ่านด้วยน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติ คือ การอ่านให้มีน้ำเสียงเหมือนเสียงพูด ไม่ดัดเสียงหรือใช้เสียงแหลมเกินไป เน้นเสียงหนักเบา สูงต่ำ ให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยสอดคล้องกับเรื่องที่อ่าน
๕. อ่านออกเสียงให้ดังพอประมาณ ไม่ตะโกนหรือเสียงแผ่วเกินไป หากอ่านเสียงดังผ่านไมโครโฟนควรให้ปากห่างจากไมโครโฟนของแต่ละคน และระมัดระวังอย่าให้เสียงหายใจเข้าไมโครโฟน เพราะเสียงจะพร่าไม่น่าฟัง
๖. อ่านเว้นวรรคตอนให้ถูกต้อง เป็นการกำหนดการอ่านให้เหมาะสม ไม่อ่านเร็วหรือช้าเกินไป ต้องอ่านให้จบคำและจบความ ถ้าเป็นคำยาวหรือคำหลายพยางค์ไม่ควรหยุดกลางคำหรือตัดประโยคจนเสียความ ๗. อ่านอย่างมีลีลาและอารมณ์ตามเนื้อเรื่องที่อ่าน คือ เน้นคำสำคัญและคำที่ต้องการเพื่อให้เกิดภาพพจน์หรือจินตนาการ การเน้นควรเน้นเฉพาะคำไม่ใช่เน้นทั้งวรรคหรือเน้นทั้งประโยค เช่น “แม่ คือผู้ให้กำเนิดและผู้มีพระคุณต่อเรา” เน้นคำว่า “แม่” เป็นต้น
๘. อ่านเครื่องหมายวรรคตอนให้ถูกต้อง เช่น คำที่ใช้อักษรย่อต้องอ่านให้เต็มคำดังตัวอย่าง
“คณะกรรมการแม่บ้าน ทบ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม”
ต้องอ่านออกเ สียงว่า “สมาคมแม่บ้านกองทัพบก ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม”
๙. การผ่อนลมหายใจ เมื่ออ่านจบย่อหน้าหนึ่งๆ ควรผ่อนลมหายใจเล็กน้อย เมื่ออ่านย่อหน้าใหม่จึงเน้นเสียงหรือทอดเสียง เพื่อดึงดูดความสนใจ จากนั้นก็อ่านตามปกติตามเนื้อหาที่อ่าน
๑๐. การจับหนังสือ ควรวางหนังสือหรือบทอ่านบนฝ่ามือซ้าย ยกขึ้นให้ได้ระดับตาม
ความเหมาะสม มือขวาคอยพลิกหนังสือหน้าถัดไปไม่ควรใช้นิ้วชี้ตามตัวหนังสือ
ที่มา: https://sites.google.com/a/htp.ac.th/kar-xxk-seiyng-rxy-kaew-laea-rxy-krxng/1-khwam-hmay-khxng-rxy-kaew