หน่วยที่ ๒

หน่วยที่ ๒ การวิเคราะห์และการประเมินค่าสารจากการอ่าน

ความหมายของการวิเคราะห์และประเมินค่าสาร

การอ่านเพื่อวิเคราะห์และประเมินค่าสาร จึงหมายถึง การที่ผู้อ่านสามารถอ่านสารอย่างใคร่ครวญ ไตร่ตรองและพินิจพิจารณา สามารถแยกรายละเอียดและส่วนประกอบของงานเขียนนั้นเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจว่างานนั้นเขียนนั้นดีหรือไม่ อย่างไร จนกระทั่งสามารถนำความคิดความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้

ประเภทของสาร

                การสื่อสารของมนุษย์ทุกครั้งเป็นการถ่ายทอดเรื่องราว ประสบการณ์ และความรู้ต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดที่กว้างขวาง ประเภทของสารแบ่งตามเนื้อหาได้ ๒ ประเภท ดังนี้

1. ข้อเท็จจริง คือ สารที่มีอยู่จริงในโลกมนุษย์และสามารถตรวจสอบได้ หากตรวจสอบแล้วเป็นจริง ข้อเท็จจริงนั้นก็เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง หากตรวจสอบแล้วไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงนั้นก็เป็นเท็จ

2. ข้อคิดเห็น คือ สารที่เกิดขึ้นในใจของผู้ส่งสาร อาจเป็นความรู้สึก ความเชื่อหรือแนวคิดที่ผู้ส่งสารมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ข้อคิดเห็นเป็นสิ่งที่ตรวจสอความจริงไม่ได้  เป็นแต่เพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นได้ว่า ข้อคิดเห็นนั้นน่ายอมรับหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างไร

ประเภทของข้อคิดเห็น

๑. ข้อคิดเห็นเชิงประเมินค่า เป็นการระบุลงไปว่าอะไรดี อะไรไม่ดี เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ บางครั้งอาจเพียงระบุว่า ยังไม่ดีนัก ค่อนข้างดี นับว่ามีประโยชน์ อยู่ในเกณฑ์ดี เป็นต้น

๒. ข้อคิดเห็นเชิงแนะนำ คือ การบอกกล่าวให้ทราบสิ่งใดควรทำหรือควรปฏิบัติ มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไรเพราะอะไรจึงควรปฏิบัติเช่นนั้น

๓. ข้อคิดเห็นเชิงตั้งข้อสังเกต คือ การชี้ให้เห็นลักษณะบางประการที่แฝงอยู่ ซึ่งอาจมองข้ามไป เป็นลักษณะที่น่าสนใจ น่าพิจารณา น่าระมัดระวัง น่านำไปศึกษาต่อ ฯลฯ

๔. ข้อคิดเห็นเชิงตัดสินใจ คือ การยอมรับหรือไม่ยอมรับข้อเสนอนั้น เมื่อผู้ส่งสารสรุปผลการตัดสินใจได้แล้วและเรียบเรียงให้ปรากฏแก่ผู้อ่าน ก็จะนับว่าสารนั้นเป็นข้อคิดเห็นเชิงตัดสินใจการที่จะยุติการพิจารณาต่างๆควรมีเหตุผลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน

๕. ข้อคิดเห็นเชิงแสดงอารมณ์ คือ สารที่แสดงสภาพอารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติ และอัธยาศัยใจคอของผู้ส่งสาร ในข้อคิดเห็นเชิงแสดงอารมณ์อาจมีสารประเภทอื่นปะปนอยู่ด้วย เช่น ข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะ เป็นต้น

กระบวนการอ่านเพื่อเข้าใจสาร

                การที่ผู้อ่านจะสามารถวิเคราะห์และประเมินค่าสารได้ จำเป็นต้องเรียนรู้กระบวนการอ่านเพื่อเข้าใจสาร ซึ่งมี ๓ ขั้นตอน

๑. การวิเคราะห์งานเขียนเพื่อเข้าใจเนื้อหา คือ การทำความเข้าใจองค์ประกอบของงานเขียน รวมทั้งภูมิหลังของงานเขียน เพื่อทำความเข้าใจส่วนประกอบของงานเขียน

๒. การวินิจสารเพื่อเข้าใจเจตนาของผู้เขียน คือ การทำความเข้าใจว่าผู้เขียนมีความมุ่งหมายหรือตั้งใจจะส่งสารใดถึงผู้อ่าน โดยพิจารณาจากเจตนา น้ำเสียงและความคิดแทรกของผู้เขียน

๓. การสรุปผลการวิเคราะห์และวินิจสาร คือ การประมวลความคิดทั้งหมดที่ได้จากเรื่องซึ่งจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในส่วนของการอ่านเพื่อเกิดทรรศนะ

การอ่านเพื่อเกิดทรรศนะ

     การอ่านเพื่อเกิดทรรศนะ หมายถึง การอ่านวิจารณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสูลงสุดของกระบวนการอ่านเพื่อเข้าใจสาร เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือทรรศนะของผู้อ่านซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ไดทำความเข้าใจเจตนาของผู้เขียนแล้วเพื่อค้นหาความถูกต้องน่าเชื่อถือของข้อมูล สามารถอธิบายได้ถึงเหตุผลที่คิดคล้อยคามหรือโต้แย้งผู้เขียน 



การวิเคราะห์และประเมินค่าสารจากการฟังและการดู


ความหมายของการฟังและการดู

    การฟัง หมายถึง กระบวนการรับสารโดยผ่านสื่อ คือ เสียง ผู้รับสารได้ยินเสียงนั้นแล้วเกิดการรับรู้ ตีความจนกระทั่งเข้าใจสาร แล้วเกิดปฏิกิริยาตอบสนอง

    การดู หมายถึง กระบวนการรับสารโดยผ่านสื่อ คือ ภาพหรือตัวอักษร ผู้รับสารเกิดการรับรู้ ตีความจนกระทั่งเข้าใจสาร แล้วเกิดปฏิกิริยาตอบสนอง

ความสำคัญของการฟังและการดู

                การฟังและการดู เป็นกระบวนการรับสารที่มีประโยชน์ต่อตนเองและสังคมเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวันมนุษย์ฟังและดูสิ่งต่าง ๆ มากมาย ความสำคัญของการฟังและการดูมีหลายประการ ดังนี้

๑.ให้ความรู้และเพิ่มความคิด มนุษย์เริ่มฟังและดูตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเป็นการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากระดับที่ง่ายจนกระทั่งพัฒนาสู่ระดับที่ยาก การฟังและการดูเป็นวิธีการหาความรู้อย่างหนึ่ง อาจเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนคติเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทำให้รับความรู้และเพิ่มความคิด

๒.เพลิดเพลินจิตและสร้างความจรรโลงใจ  การรับสารบางประเภทจะทำให้เกิดความเพลิดเพลินใจและสร้างความจรรโลงใจ บางครั้งหากเหนื่อยล้าจากการเรียนหรือการทำงานมาทั้งวัน การฟังเพลงที่ไพเราะสักเพลงหรือดูภาพยนตร์ที่สนุกสนานสักเรื่อง จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายเป็นวิธีการพักผ่อนประเภทหนึ่ง นอกจากนี้เนื้อหาสาระของเรื่องยังให้แง่คิดบางประการ ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นความรู้สึกของผู้รับสารได้อีกทางหนึ่ง

๓.เสริมสร้างโลกทัศน์ให้กว้างไกล การรับสารที่หลากหลายอย่างสม่ำเสมอ ย่อมทำให้ผู้รับสารได้รับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น ก่อให้เกิดความคิดและมีมุมมองใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างจากเรื่องที่เคยรับมา

๔.ใช้พัฒนาตนเองและสังคม การรับสารด้วยการฟังและการดูทำให้เกิดความรู้ สร้างความคิด สร้างความเพลิดเพลินใจ และเสริมสร้างโลกทัศน์ของผู้รับสารให้กว้างไกล ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการพัฒนาในส่วนของผู้รับสารเอง เมื่อผู้รับสารนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งสร้างประโยชน์ให้ผู้คนรอบข้างหรือหน่วยงาน ก็จะเป็นการพัฒนาสังคมได้ดีวิธีหนึ่ง

ประเภทของสารที่ฟังและดู

๑.สารที่ให้ความรู้ เช่น การฟังและการดูข่าวสารข้อมูลต่างๆ การฟังและการดูเรื่องทางวิชาการและการฟังและดูเรื่องเกี่ยวกับสาขาวิชาชีพที่ตนสนใจ เป็นต้น

๒.สารที่โน้มน้าวใจ เช่น การฟังและการดูโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาสินค้าหรือโฆษณาหาเสียง การเชิญชวนให้ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ การโต้วาที และการอภิปรายในบางเรื่อง เป็นต้น

๓.สารที่สร้างความจรรโลงใจ ในนี้หมายถึง การรับสารที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลินใจเพิ่มความสุข คลายความทุกข์ และให้แง่คิดเตือนใจแก่ผู้รับสาร เช่น การฟังนิทาน การฟังเพลง การดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์ การฟังเทศน์ การฟังและการดูเรื่องที่ทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆในชีวิต

การวิเคราะห์และประเมินค่าสารจากการฟังและการดู

๑.การวิเคราะห์สาร การรับสารจากสื่อในแต่ละครั้ง ผู้รับสารควรพิจารณาเนื้อหาเป็นส่วนๆ โดยอาศัยการตรึกตรองด้วยเหตุผล สามารถแยกเนื้อหาส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นได้

๒.การตีความ  นอกจากผู้รับสารจะแยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นของสารได้แล้วขั้นตอนต่อไปคือ จะต้องพยายามเข้าใจความหมายที่แท้จริงของสารนั้นด้วย โดยอาศัยการตีความทั้งตีความตัวอักษร เนื้อหา และน้ำเสียงของสาร

๓.การวินิจฉัยเพื่อประเมินค่า เป็นขั้นตอนการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบเพื่อหาคุณค่าของสาร 
ที่สำคัญคือ ต้องตรึกตรองสารอย่างปราศจากอคติ

การประเมินผลการรับสาร

๑.ท่าทีและการวางตัว เช่น การแต่งกาย การยิ้มแย้มแจ่มใส ความเชื่อมั่น ความกระตือรือร้น ความสามารถในการควบคุมตนเอง

๒.เสียง เช่น ความดัง ความน่าฟัง การออกเสียงที่ถูกต้องชัดเจน ความเป็นกันเอง ความนุ่มนวลน่าฟังของเสียง อัตราช้าเร็ว การย้ำ การเน้นเสียง เป็นต้น

๓.อากัปกิริยาท่าทาง เช่น การทรงตัว การเคลื่อนไหว การประสานสายตากับผู้ฟัง การใช้กิริยาท่าทางให้เหมาะสมกับคำพูดและบรรยากาศของที่ประชุม เป็นต้น

๔.ภาษาที่ใช้ เช่น ความชัดเจนของภาษาที่ใช้สื่อสารและความถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ไทย เป็นต้น

๕.ความคิดและเนื้อหาสาระ เช่น การนำเสนอที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน ข้อเท็จจริงถูกต้อง มีการอ้างอิงเหตุผลประกอบที่สัมพันธ์กัน และควรเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ เป็นต้น

๖.การเรียบเรียงเรื่อง เช่น เริ่มอารัมภบทน่าสนใจ ลำดับเนื้อหาสาระได้เหมาะสมและสรุปความคิดได้รัดกุม เป็นต้น

หน้าเว็บย่อย (1): เสียดาย1
Comments